พิธีมอบธงสัญลักษณ์ “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023”

“นายกรัฐมนตรี”เป็นประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากทำเนียบรัฐบาลไปยังศูนย์การค้า Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา เผยภาพรวมการจัดงานครั้งที่ 2 ที่โคราช ใช้มิติศิลปะร่วมสมัยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมีผู้สนใจเข้าชมผลงานกว่า 3 แสนคน วันที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ในการจัด “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ให้แก่ผู้แทนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานในลำดับต่อไป ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเฟสบุ๊กแฟนเพจ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วม ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ในขณะที่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารฯ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ศิลปิน ตลอดจนคณะทำงาน เข้าร่วมพิธีมอบธงสัญลักษณ์การจัด “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” โดยมีนายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะทำงาน ศิลปิน สมาคมขัวศิลปะเชียงราย นักแสดง ตลอดจนช่างภาพสื่อมวลชน เป็นตัวแทนจังหวัดเชียงราย เจ้าภาพการจัดงานฯ ในครั้งต่อไป ณ ศูนย์การค้า Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากพิธีกรในงานนำชมวีดีทัศน์และการแสดงชุด “วัฒนศิลป์ถิ่นโคราช” ตามด้วยการแสดงชุด “ข้ามวัฏฏะ ของจังหวัดเชียงราย” จบลง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีประธานในพิธี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธีทุกภาคส่วน จากนั้นนายอิทธิพล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความเป็นมาและการดำเนินงานของโครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale, Korat 2021 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Butterflies Frolicking on the mud” หรือ “เซิ้ง..สิน ถิ่นย่าโม” มีศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงานจำนวน 53 คนจาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยคำนึงถึงหลักการสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี ทำให้มีผู้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมงานครั้งนี้มากกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์การต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันเกิดจากทุนของมนุษย์ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และของจังหวัดนครราชสีมาอย่างถูกต้องเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะถือเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป กระทรวงวัฒนธรรมมีความมุ่งหวังให้การจัดงาน Thailand Biennale นี้ เป็นโอกาสในการส่งเสริมและเปิดพื้นที่ศิลปะให้กับศิลปินท้องถิ่น และศิลปินชาวไทยได้แสดงออกทางศักยภาพในความสามารถแนวคิดและเทคนิคสร้างสรรค์ในผลงานอันโดดเด่น แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตนในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ตอบสนองนโยบายของทางรัฐบาลโดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระบวนการ พัฒนาของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและประชาชน โดยร่วมกันขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสังคม และงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประตูในการสร้างความสัมพันธ์การมีส่วนร่วมทางด้านศิลปวัฒนธรรมและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของแวดวงความเคลื่อนไหว ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยให้มีความมั่นคง เข้มแข็งและขยายสู่ความเป็นสากลได้มากยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้การแสดงงานศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ กำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า “การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ” ซึ่งเป็นการจัดงานระดับโลกที่ต่อเนื่องและนำเสนอความพร้อมของจังหวัดเชียงรายในฐานะเมืองศิลปะระดับโลกอีกแห่งหนึ่ง พร้อมกันนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวเชิญพร้อมทั้งมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานในพิธี ด้านนายกรัฐมนตรีได้มอบโอวาท พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า “การส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในงานศิลปะให้แก่ประชาชน การส่งเสริมให้ศิลปินได้แสดงออก ซึ่งผลงานศิลปะในเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ รวมถึงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มจากสินค้าและการบริการ ทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพ 5 F ประกอบด้วย มวยไทย Fighting ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ วีดีทัศน์และฟิล์ม การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง การจัดโครงการ Thailand Biennale ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากจังหวัดกระบี่ และเป็นหนึ่งในโครงการที่ตอบสนองต่อรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมการแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปสู่นานาชาติ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ชุมชนและเครือข่ายศิลปินจากทั่วโลก โดยเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะประสบผลสำเร็จและเกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจงานศิลปะ และเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างคนที่มีคุณภาพมีวิธีคิด มีมุมมองที่สร้างสรรค์ มีจิตสำนึกและรักในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ที่สำคัญจะสามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้มากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณพลังจากทุกภาคส่วน “ทุกท่านคือหัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนประเทศไทย ในด้านศิลปวัฒนธรรมให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากล จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างงานและศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของไทยให้เข้มแข็งและเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีโบกธงเป็นสัญญาณในการจัดงานและส่งมอบให้กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน Thailand Biennale, Korat 2121 และได้ส่งต่อธงสัญลักษณ์ให้แก่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำพิธีโบกธงแสดงสัญลักษณ์เจ้าภาพในการจัดงาน และส่งมอบธงสัญลักษณ์นี้ให้แก่ นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะเจ้าภาพในการจัดงานครั้งต่อไป “Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” พร้อมปิดท้ายด้วยการแสดงศิลปะร่วมสมัยจาก เก่ง ธชยและศิลปินร่วมสมัยมากมาย จากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงราย ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดีและมิตรภาพ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ร่วมกัน

แชร์