พิธีเปิด กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้”ภายใต้โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากล

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2563 เวลา 9.00 น. ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี

นางสาวสมลักษณ์ คล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์ (ทัศนศิลป์) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้”ภายใต้โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้สู่สากล โดยได้รับเกียรติจาก นางอริศรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นางศศิเพ็ญ ละม้ายพันธุ์ วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี นางสมศรี รักนุ้ย วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นายเสรี วาจาเพชร นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดยะลา นางพรทิพย์ น้อยสร้าง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยดีไซเนอร์ ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ คุณหิรัญกฤษฎ์ ภัทรบริบูรณ์กุล และคุณทรงวุฒิ ทองทั่ว เป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและทีมวิทยากร ร่วมในพิธีเปิดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฯ แก่ ชุมชนเครือข่ายฯ อาจารย์ นักศึกษาและประชาชน จำนวนทั้งสิ้นเกือบ 300 คน ที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อยกระดับความรู้ พัฒนาความสามารถ และทักษะวิชาชีพ ด้วยพื้นฐานทางด้านศิลปะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยเสริมสร้างรายได้สู่ชุมชน

ทั้งนี้กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” โดยศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดขึ้นภายใต้งบประมาณบูรณาการจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านศิลปะการออกแบบโดยนักออกแบบเครื่องแต่งกายและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวไทยผู้มีชื่อเสียง ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ประกอบการท้องถิ่นฯ โดยนำ“ผ้าบาติก” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อันเป็นภูมิปัญญาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสร้างสรรค์ลายผ้ารูปแบบใหม่นำมาออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความร่วมสมัยและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างงดงาม เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า หมวก รองเท้า เข็มกลัด รวมถึงสร้อยคอ และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่สามารถสร้างให้เกิดรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณค่าแห่งภูมิปัญญาผ้าไทยให้พัฒนาสู่สากลได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย http://box5788.temp.domains/~ocacgoth/ และ https://www.facebook.com/OfficeOfContemporaryArtAndCulture

แชร์