คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

บทความ

ลายบาติกร่วมสมัย ต่อยอด “ลมหายใจแห่งศิลปะบนผืนผ้า” เสน่ห์จากงานศิลปะบน ผืนผ้าอันเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น มีแบบอย่างให้ชื่นชมอย่างตระการตา

#เล่าเรื่องร่วมสมัย

ลายบาติกร่วมสมัย ต่อยอด “ลมหายใจแห่งศิลปะบนผืนผ้า” เสน่ห์จากงานศิลปะบนผืนผ้าอันเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น มีแบบอย่างให้ชื่นชมอย่างตระการตา เช่น ผ้าบาติก หรือปาเต๊ะ ที่เป็นสายธารวัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชนในแถบจังหวัดภาคใต้ ที่สะท้อนตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งหากเราสังเกตก็จะเห็นได้อย่างเด่นชัด ถึงความงดงามประณีตของลวดลายบนผืนผ้าเฉกเช่นงานจิตรกรรมที่สะท้อนมุมมองของทิวทัศน์อันสวยงามตามธรรมชาติลงบนผืนผ้าใบ และในบางขณะก็สะท้อนภาพวิถีวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ สอดแทรกเรื่องราวความเป็นมาของผู้คน ผ่านรอยเทียนที่หยดลงจากปลายจันติ้ง (ปากกาเขียนเทียน) และริ้วพู่กันที่ตวัดวาดลวดลายแต่งเติมสีสันความมีชีวิตชีวา เพื่อเกื้อกูลลมหายใจแห่งศิลปะลงบนผืนผ้า ในทุกขั้นทุกตอนอย่างพิถีพิถัน ลวดลายที่สวยสด งดงาม สีสันสะดุดตาเหล่านี้ ล้วนเป็นผลิตผลจากต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้ดำเนินโครงการพัฒนางานศิลปะบนผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่นานาชาติ ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาเพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยผ่านงานวัฒนธรรมสู่เวทีโลก เป็นการนำเอาองค์ความรู้ด้านการออกแบบลายผ้าไทยที่มีอยู่ในชุมชนดั้งเดิมมาพัฒนาต่อยอดให้ตกผลึกความคิด ผสมผสานความรู้และเทคนิคสมัยใหม่ด้านการออกแบบลายผ้าจากดีไซน์เนอร์ ศิลปินร่วมสมัยและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียง 2 ท่านได้แก่ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข และนายทรงวุฒิ ทองทั่ว ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะคลองประสงค์ /กลุ่มอ่าวลึกบาติก และกลุ่มบากันบาติก จนเกิดการสร้างสรรค์ลวดลายร่วมสมัยทั้งสิ้น 16 ลาย ได้แก่ ลายดอกไม้แห่งมิตรภาพ ลายดอกไม้แห่งความรัก ลายไก่ขัน ลายเขาขนาบน้ำและลายบ้านเกาะกลาง เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาได้จัดนิทรรศการ“การออกแบบลายผ้าร่วมสมัยและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่นานาชาติณ จังหวัดกระบี่” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่ และระหว่างวันที่ 15 – 30 เมษายน 2562 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายให้แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น กลุ่ม “ผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะคลองประสงค์” อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 ต่อมานางประจิม เล็กดำ มีแนวความคิดที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่กลุ่มสมาชิก โดยการฟื้นฟูและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบลวดลาย เช่น ลายกนก ลายเบญจรงค์ ลายกุหลาบมอญ ลายกุหลาบหิน ลายกล้วยไม้ ลายลูกสน และอีกนับสิบลาย แบ่งหน้าที่การผลิตกระจายลงไปในแต่ละหมู่บ้าน จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า“หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”ระดับสี่ดาวของจังหวัดกระบี่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับเป็นความสร้างสรรค์อันลงตัวที่ไม่เกินไปกว่าจินตนาการ ทุกครั้งที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆของชุมชนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ตราประทับแห่งความภาคภูมิใจจะถูกจารึกลงในคุณค่าของงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นต่อๆไปด้วยความรักในงานศิลปะและจิตวิญญาณของชุมชน อย่างไม่รู้จบ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://ocac.go.th/?3d-flip-book=batik และเฟซบุ๊กผ้าปาเต๊ะกระบี่

แชร์

บทความอื่นๆ

จากทุนทางวัฒนธรรมสู่ อัตลักษณ์ปลวกแดง “อุตสาหกรรมก้าวไกล อ่างใหญ่อู่น้ำ หวานฉ่ำสับปะรด งดงามประเพณี พันธุ์ดียางพารา ศรัทธาหลวงพ่อโพธิ์”

ลายบาติกร่วมสมัย ต่อยอด “ลมหายใจแห่งศิลปะบนผืนผ้า”

Typography (ไทโปกราฟี่) คำนี้มีความหมายอย่างยิ่ง สำหรับวงการออกแบบ จากประสบการณ์ ของ ไพโรจน์ ธีระประภา ศิลปาธรสาขา เรขศิลป์ ประจำปี 2557

“เที่ยวหอศิลป์ร่วมสมัยฯ วิถีใหม่ แบบ 360 องศา” หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน Ratchadamnoen Contemporary Art Center