กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขอเชิญร่วมชมศูนย์ข้อมูลการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขอเชิญร่วมชมศูนย์ข้อมูลการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติThailand Biennale, Chiang Rai 2023 ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย

เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – ศุกร์ 8.00 – 17.30 น.

ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ สามารถเข้าชมได้ในเวลา 8.00 – 18.00 น.

The Open World พร้อมศิลปินเฟสแรก

โดยทีมงานภัณฑารักษ์
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์
ภัณฑารักษ์ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, มนุพร เหลืองอร่าม

ความเป็นมา

เนื่องจากเชียงรายเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ทีมภัณฑารักษ์เห็นความสำคัญของการเรียนรู้จากอดีตที่จะนำพาเราก้าวไปสู่อนาคต จึงเสนอแนวคิดในการจัดงานเบียนนาเล่ครั้งนี้ โดยเน้นแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของเชียงรายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานเพื่อเผยให้เห็นถึงมุมมองของเรื่องเล่าขนาดย่อม และ มิติความหลากหลายของวัฒนธรรม และระบบนิเวศของเมือง

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 จึงเน้นบริบทของเชียงราย เพื่อจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ในระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาคและโลก และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหลากหลาย และประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุครัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ ผ่านการเดินทางของอิทธิพลจากอารยธรรมที่หลากหลาย

ที่ผ่านมาในแอ่งที่ราบเชียงแสน เชียงราย ในฐานะที่เป็นอดีตเมืองเก่า ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกก ทำหน้าที่เป็นเมืองทางผ่านของพญามังราย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์มังรายจากเชียงแสน หิรัญนครเงินยาง ซึ่งเป็นอาณาจักรเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มีการวิจัยเกี่ยวกับเชียงราย ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ใหม่ ทิ้งคำถามไว้ก็คือ การเปลี่ยนผ่านของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ยุครัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ ที่ผ่านช่วงอาณานิคม และ สงครามเย็น แนวคิดของรัฐในการมองเชียงราย ในฐานะที่เป็นเมืองชายแดน คือเปลี่ยนจากมุมมองความมั่นคงมาสู่ความมั่งคั่ง

เมืองเชียงรายเอง ได้ทบทวนบทบาทและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนใหม่ โดยหันความสนใจจากศูนย์กลางมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านรอบชายแดน ดังนั้นสถานะจึงเปลี่ยนจากการเป็นประตูสู่ต่างประเทศเพื่อนบ้าน มาสู่ความเป็นห้องรับแขกของไทย คำถามในงานวิจัยของนิกวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร. พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ที่น่าสนใจนี้คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ได้เปิดพื้นที่ให้ผลงานศิลปะ และ การสร้างสรรค์มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ศิลปินสามารถทำอะไรได้บ้างในการปฎิรูปและประกอบ สร้างสังคมเชียงรายในปัจจุบัน

การกลับมาของศิลปินเชียงรายกับการทวงคืนเสียงและเอกลักษณ์

คำตอบนี้เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2527-2535 จากการวิจัยของ ดร. พลวัฒ ย้ำว่า การกลับมาของศิลปินเชียงรายในทศวรรษที่ 1980 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ของเชียงรายด้วยงานศิลปะร่วมสมัย (คำนิยามศิลปะร่วมสมัยของ ดร. พลวัฒ น่าจะหมายถึงงานศิลปะประเพณีแนวใหม่ หรือ neo-traditional art)

ปรากฎการณ์ ที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคืองาน ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจัดมาแล้วห้าครั้ง โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรื้อฟื้น”ความเป็นชาติพันธุ์” ที่แสดงให้เห็นถึงเชียงรายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ด้วย ซึ่งจุดนี้เองเป็นการอ้างอิงถึงผลงานหนังสือเรื่อง “30 ชาติ ในเชียงราย” เขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อดีตนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยเป็น ส.ส. เชียงราย ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูล สงคราม ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ ส่งผลให้มีการ “ทบทวนและอ่านในแง่มุมใหม่”

หลังจากนั้นเริ่มมีการทำงานร่วมกันของศิลปิน พระสงฆ์ และ ชุมชน เป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับเชียงราย ในทศวรรษต่อมา ทำให้เกิดกระแสปฎิรูปศิลปวัฒนธรรมเชียงรายระยะที่สอง ต่อจากงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง คือหลังจากเชียงรายฉลอง 750 ปี โดยหมุดหมายคือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของเมืองชายแดน มาเป็นเมืองศิลปิน โดยมีกลุ่มศิลปินหลายคนได้เริ่มทำงานกับชุมชน สร้างศาสนสถาน ไปจนถึงการผลักดันระดับนโยบายทางสังคม ฯลฯ ทำให้เกิดการร่วมมือกันเรียกร้องให้สร้างพื้นที่ทางศิลปะขึ้นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงผลักดันให้จังหวัดรับรองสถานะของบ้านศิลปิน เปิดสตูดิโอศิลปิน และ หอศิลป์ ให้ประชาชนได้เข้าชม ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเชียงรายประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จึงทำให้เกิดการผลิบานของงานศิลปะแบบจารีต และชาติพันธุ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการต่อยอดไปสู่งานศิลปะและการออกแบบร่วมสมัย ที่นำรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

จากการลงพื้นที่สองเดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ชุมชนศิลปินเชียงรายมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเริ่มจากระดับล่างสู่บน (bottom-up approach) ทำให้เห็นว่าเชียงรายมีศักยภาพมากในการเป็นพื้นที่จัดงาน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ประการแรก เชียงรายมีประวัติศาสตร์อันยาวนานผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยสงครามอาณานิคม และสงครามเย็นที่พัวพันกับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบด้วยอาณาจักรต่างๆ เช่น โยนกนคร เงินยางเชียงแสน เวียงกาหลง ภูกามยาว ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีและมรดกล้านนา โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม และมีชุมชนศิลปินที่เข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกันได้กับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐทุกระดับในจังหวัด

ด้วยภูมิหลังนี้ เชียงรายจึงกลายเป็นสถานที่บ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินที่มีพรสวรรค์มากมาย โดยเฉพาะศิลปินสมัยใหม่ในยุคต้นๆ และกลุ่มประเพณีแนวใหม่ เช่น ถวัลย์ ดัชนี และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงสองคนนี้ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญที่เดินทางกลับบ้าน และมีส่วนช่วยเหลือบ้านเกิดเมืองนอน และเริ่มสร้างชุมชนศิลปะผ่านพิพิธภัณฑ์และวัดของตนเอง ตลอดจนสมาคมขัวศิลปะ ซึ่งขณะนี้มีศิลปินประมาณ 300 คน และสตูดิโอศิลปิน 80 แห่ง กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ของเชียงราย ยากที่จะหาจังหวัดอื่นเทียบได้ นอกจากกรุงเทพฯ ทีมภัณฑารักษ์พบว่าเชียงรายมีความโดดเด่นในด้านศิลปะ และมีศักยภาพในการจัดงานเบียนนาเล่ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ประเพณี และความร่วมสมัย

แชร์

ภาพกิจกรรมอื่นๆ