พิธีมอบธงสัญลักษณ์ “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023”

“นายกรัฐมนตรี”เป็นประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากทำเนียบรัฐบาลไปยังศูนย์การค้า Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา เผยภาพรวมการจัดงานครั้งที่ 2 ที่โคราช ใช้มิติศิลปะร่วมสมัยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมีผู้สนใจเข้าชมผลงานกว่า 3 แสนคน วันที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์ในการจัด “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” ให้แก่ผู้แทนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานในลำดับต่อไป ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเฟสบุ๊กแฟนเพจ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วม ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ในขณะที่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารฯ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ศิลปิน ตลอดจนคณะทำงาน เข้าร่วมพิธีมอบธงสัญลักษณ์การจัด “งานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” โดยมีนายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะทำงาน ศิลปิน สมาคมขัวศิลปะเชียงราย นักแสดง ตลอดจนช่างภาพสื่อมวลชน เป็นตัวแทนจังหวัดเชียงราย เจ้าภาพการจัดงานฯ ในครั้งต่อไป ณ ศูนย์การค้า Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากพิธีกรในงานนำชมวีดีทัศน์และการแสดงชุด “วัฒนศิลป์ถิ่นโคราช” ตามด้วยการแสดงชุด “ข้ามวัฏฏะ ของจังหวัดเชียงราย” จบลง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีประธานในพิธี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธีทุกภาคส่วน จากนั้นนายอิทธิพล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความเป็นมาและการดำเนินงานของโครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale, Korat 2021 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Butterflies Frolicking on the mud” หรือ “เซิ้ง..สิน ถิ่นย่าโม” มีศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงานจำนวน 53 คนจาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยคำนึงถึงหลักการสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี ทำให้มีผู้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมงานครั้งนี้มากกว่า 3 แสนคน ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์การต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันเกิดจากทุนของมนุษย์ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และของจังหวัดนครราชสีมาอย่างถูกต้องเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะถือเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป กระทรวงวัฒนธรรมมีความมุ่งหวังให้การจัดงาน Thailand Biennale นี้ เป็นโอกาสในการส่งเสริมและเปิดพื้นที่ศิลปะให้กับศิลปินท้องถิ่น และศิลปินชาวไทยได้แสดงออกทางศักยภาพในความสามารถแนวคิดและเทคนิคสร้างสรรค์ในผลงานอันโดดเด่น แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตนในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ตอบสนองนโยบายของทางรัฐบาลโดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระบวนการ พัฒนาของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและประชาชน โดยร่วมกันขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสังคม และงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประตูในการสร้างความสัมพันธ์การมีส่วนร่วมทางด้านศิลปวัฒนธรรมและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของแวดวงความเคลื่อนไหว ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยให้มีความมั่นคง เข้มแข็งและขยายสู่ความเป็นสากลได้มากยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้การแสดงงานศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ กำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า “การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ” ซึ่งเป็นการจัดงานระดับโลกที่ต่อเนื่องและนำเสนอความพร้อมของจังหวัดเชียงรายในฐานะเมืองศิลปะระดับโลกอีกแห่งหนึ่ง พร้อมกันนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวเชิญพร้อมทั้งมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานในพิธี ด้านนายกรัฐมนตรีได้มอบโอวาท พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า “การส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในงานศิลปะให้แก่ประชาชน การส่งเสริมให้ศิลปินได้แสดงออก ซึ่งผลงานศิลปะในเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ รวมถึงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนา อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มจากสินค้าและการบริการ ทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพ 5 F ประกอบด้วย มวยไทย Fighting ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ วีดีทัศน์และฟิล์ม การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง การจัดโครงการ Thailand Biennale ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากจังหวัดกระบี่ และเป็นหนึ่งในโครงการที่ตอบสนองต่อรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมการแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปสู่นานาชาติ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ชุมชนและเครือข่ายศิลปินจากทั่วโลก โดยเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะประสบผลสำเร็จและเกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจงานศิลปะ และเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างคนที่มีคุณภาพมีวิธีคิด มีมุมมองที่สร้างสรรค์ มีจิตสำนึกและรักในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ที่สำคัญจะสามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้มากยิ่งขึ้น ต้องขอขอบคุณพลังจากทุกภาคส่วน “ทุกท่านคือหัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนประเทศไทย ในด้านศิลปวัฒนธรรมให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากล จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสร้างงานและศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของไทยให้เข้มแข็งและเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีโบกธงเป็นสัญญาณในการจัดงานและส่งมอบให้กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน Thailand Biennale, Korat 2121 และได้ส่งต่อธงสัญลักษณ์ให้แก่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำพิธีโบกธงแสดงสัญลักษณ์เจ้าภาพในการจัดงาน และส่งมอบธงสัญลักษณ์นี้ให้แก่ นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะเจ้าภาพในการจัดงานครั้งต่อไป “Thailand Biennale, Chiang Rai 2023” พร้อมปิดท้ายด้วยการแสดงศิลปะร่วมสมัยจาก เก่ง ธชยและศิลปินร่วมสมัยมากมาย จากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงราย ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดีและมิตรภาพ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ร่วมกัน

แชร์

Share on facebook
Share on twitter